ข่าวผู้บริหาร



อธิบดี สถ. ร่วมลงพื้นที่จังหวัดระนอง ตรวจเยี่ยมการปรับภูมิทัศน์หาดส้มแป้น
 


วันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. ณ ลานอนุสาวรีย์พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ต.เขานิเวศน์ อ.เมืองระนอง จ.ระนอง - นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการปรับภูมิทัศน์หาดส้มแป้น โอกาสนี้ นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี ขรรค์ไชย ทันธิมา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม ร่วมลงพื้นที่ โดยมีนายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายอัครพล ผลพานิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการ นายธนกร บริสุทธิญาณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง นายพินิจ ตันกุล นายกเทศมนตรีเมืองระนอง และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมให้การต้อนรับ
 


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำคณะผู้บริหารระดับสูง สักการะอนุสาวรีย์พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนองคนแรก ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านมีชาติภูมิเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เกิดที่เมืองเจียงจิวหู ประเทศจีน เดิมชื่อ ซู้เจียง แซ่คอ โดยท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาเมืองระนองให้เจริญก้าวหน้า กลายเป็นเมืองชั้นเอกของประเทศ จากการที่สามารถเรียกเก็บภาษีอากรจากการทำกิจการเหมืองแร่ดีบุกได้เป็นอันดับ 1 ซึ่งแต่ละปีสามารถเก็บภาษีให้ราชการได้เป็นจำนวนหลายล้านบาท ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากบุคลิกส่วนตัว ซึ่งท่านมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่พิเศษ คือ เป็นคนฉลาด รอบรู้ มองการณ์ไกล มัธยัสถ์ ถี่ถ้วน อดทน และข้อสำคัญ คือ รู้จักจัดการ รู้จักแก้ปัญหา สามารถปกครองเมืองระนองได้อย่างเรียบร้อย และมีรากฐานมั่นคง
 


จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ รับฟังบรรยายสรุปและเดินตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์หาดส้มแป้น โดยมีนายอัครพล ผลพานิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระนอง นำชมพร้อมบรรยายสรุป โดยกล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์หาดส้มแป้น งบประมาณ 49.46 ล้านบาท ปัจจุบันการดำเนินการแล้วเสร็จ โดยมีรายละเอียดการปรับปรุง 5 รายการ คือ 1) เขื่อนป้องกันตลิ่ง ระยะทาง 902 เมตร 2) ทางเดิน-ทางวิ่ง ความกว้าง 2 เมตร ระยะทาง 700 เมตร 3) ทางจักรยาน ความกว้าง 2 เมตร ระยะทาง 700 เมตร 4) บันไดทางขึ้น-ทางลง 5) ทางลาดเสมอภาค (อารยสถาปัตย์) 6) ลานลอยกระทงพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร 7) รางกันตก และ 8 ) ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง โดยเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต่อเนื่องจากบ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน เพื่อเชื่อมระหว่างบ่อน้ำพุร้อนรักษะวารินมายังร้านอเนกประสงค์เทศบาลเมืองระนอง เป็นการเชื่อมโยงรูทเส้นทางการท่องเที่ยว ทั้งการแช่น้ำ แช่ตัว และพักผ่อน สันทนาการ ตามธรรมชาติ สไตล์วิถีการท่องเที่ยวเมืองระนอง
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 




จำนวนผู้เข้าชม 77