ข่าวผู้บริหาร



สถ. จัดกิจกรรม สถ. น้อมนำพุทธะ ธรรมะนำทางจิตใจ
 


วันที่ 18 กันยายน 2555 เวลา 07.50 น. ณ อาคารสุวัทนา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น - นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดี สถ. เป็นประธานโครงการ "สถ. น้อมนำพุทธะ ธรรมะนำทางจิตใจ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก" พร้อมด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมฟังธรรมเทศนา เพื่อให้บุคลากรกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สามารถนำหลักธรรมมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต พัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพในการปฏิบัติงาน บนหลักคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ โอกาสนี้ นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดี สถ. ได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พระภิกษุสงฆ์แสดงธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ จากนั้นประธานในพิธีและคณะผู้บริหารร่วมถวายภัตตาหารเพล และเครื่องไทยธรรม พระภิกษุสงฆ์ให้พร เป็นอันเสร็จพิธี
 


ในวันนี้พระภิกษุสงฆ์ได้แสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง สัปปุริสธรรม 7 ได้แก่ 1) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายถึง ความเป็นผู้รู้หลัก คือความเป็นผู้รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นเหตุของสิ่งนี้ เช่นรู้ว่า เมื่อคนเราขาดอิทธิบาท 4 ในการประกอบอาชีพทำมาหากิน หรือในการทำกิจต่างๆ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น 2) ความเป็นผู้รู้จักผล หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักว่า ผลอันนี้เกิดจากเหตุอันนี้ 3) ความเป็นผู้รู้จักตน หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ความสามารถ ความถนัดและคุณธรรม เป็นต้น 4) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ หมายถึง ความรู้จักพอดีในสิ่งต่างๆ เช่น รู้จักประมาณในการบริโภคและการใช้จ่ายทรัพย์ รู้จักความพอเหมาะในการพูด การปฏิบัติกิจและทำการต่างๆ ตลอดจนการพักผ่อน และการสนุกสนานรื่นเริงทั้งหลาย 5) ความเป็นผู้รู้จักกาล หมายถึง การรู้จักเวลาอันเหมาะสมและระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา เป็นต้น 6) ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักถิ่น รู้จักที่ชุมนุม รู้จักสังคม คือรู้จักว่า ชุมชนหรือสังคมนั้นเป็นอย่างไร จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะเหมาะกับสังคมนั้นเพื่อให้สามารถเข้ากับชุมชนนั้น และ 7) ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบบุคคล หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือรู้จักและเข้าใจความแตกต่างแห่งบุคคลว่าโดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 




จำนวนผู้เข้าชม 69