ข่าวผู้บริหาร



อธิบดี สถ. ชูอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เป็นกลไกหลักขับเคลื่อน #ถังขยะเปียกลดโลกร้อน
 


เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 - นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน ที่ปรึกษาโครงการฯ ว่าที่ร้อยตรี ขรรค์ไชย ทันธิมา นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ และนายสุรพล เจริญภูมิ ผู้ตรวจราชการ สถ. นายศิริรัตน์ บำรุงเสนา ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานท้องถิ่น ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และท้องถิ่นจังหวัดทุกจังหวัด เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์
 


อธิบดี สถ. เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้มีเป้าหมายเพื่อติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน (แผนปฏิบัติการ 100 วัน) โดยที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ เพื่อรับทราบถึงปัญหาอุปสรรคและให้คำแนะนำในการดำเนินงาน เพื่อให้ทุกจังหวัดสามารถจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนได้ครบทุกครัวเรือนภายในเดือน พ.ย. 2565 พร้อมทั้งเตรียมรับการทวนสอบการดำเนินโครงการฯ ใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดลำพูน จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเลย และจังหวัดอำนาจเจริญ ในช่วงปลายปี 2565 และการทวนสอบในจังหวัดอื่นๆ ช่วงต้นปี 2566
 


นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดี สถ. ได้เน้นย้ำถึงแนวทางในการดำเนินโครงการ โดยขอให้ท้องถิ่นทุกแห่งอาศัยกลไกของ อถล. หรืออาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ที่มีความสนใจ มีความสมัครใจมีความเสียสละและอุทิศตนในการทำงานด้านการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย การปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง ร่วมลงมือจัดทำถังขยะเปียก ในลักษณะ "1 อถล. 1 ครัวเรือน 1 ถังขยะเปียก" นอกจากนั้น ยังขอให้ท้องถิ่นได้เชิญชวนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคสื่อสารมวลชน เข้ามาร่วมดำเนินโครงการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
 


ในช่วงท้าย อธิบดี สถ. ได้เน้นย้ำถึงแนวทางการรณรงค์และสร้างการรับรู้ในพื้นที่ โดยย้ำว่าเป้าหมายหลักของการจัดทำถังขยะเปียก คือการที่ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ซึ่งช่วยลดการปนเปื้อนระหว่างขยะเปียกและขยะแห้ง ช่วยลดปริมาณขยะที่จะเข้าสู่กระบวนการกลางทางและปลายทาง ทำให้มีขยะที่ส่งเข้ากระบวนการรีไซเคิลในธนาคารขยะเพิ่มมากขึ้น ทั้งช่วยลดภาระทางงบประมาณของท้องถิ่นที่ยังคงต้องใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีในการจัดการขยะ ทั้งซื้อรถขยะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างคนขับ คนขนขยะ และค่าบริหารจัดการขยะที่ปลายทาง ถังขยะเปียกยังทำให้ได้สารบำรุงดิน ช่วยลดโลกร้อนและสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตอีกด้วย
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 


-
 




จำนวนผู้เข้าชม 388