เอกสารความรู้

เรื่อง การจัดการความรู้ ( Knowledge Management: KM ) กับการบริหารราชการสมัยใหม่

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ตอน หลักการจัดการความรู้และความสัมพันธ์กับแนวทางการบริหารจัดการอื่น

อ้างอิงจากชุดเครื่องมือการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตามโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
เรื่องการจัดการความรู้ โดยสำนักงาน ก.พ.ร.

--------------------------------

 

หลักการจัดการความรู้เป็นอย่างไร

ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องหลักการจัดการความรู้ หรือ KM ก็ต้องมาพิจารณาดูว่านักวิชาการและเหล่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความรู้ หรือ Mr. KM ทั้งหลาย มีมุมมองเกี่ยวกับคำว่า “ ความรู้” และ “ การจัดการความรู้” อย่างไรบ้าง

คู่มือการเรียนรู้ด้วยตนเอง ( Self Learning Tool-Kits ) โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ทำให้เรารู้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญให้มุมมองเรื่องความรู้ที่แตกต่างกัน และการจัดการความรู้ต้องอาศัยหลักศิลปะหรือธรรมชาติมากกว่าหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งการจัดการความรู้สามารถอาศัยหลักการง่าย ๆ ที่เรียกว่า “ASHEN” ซึ่ง Dave Snowden มีมุมมองเกี่ยวกับ “ ความรู้” และ “ASHEN” ดังนี้

A = Artifacts เป็นความรู้ที่อยู่ในรูปแบบเอกสาร ลายลักษณ์อักษร

S = Skills เป็นทักษะ หรือสิ่งจำเป็นที่ต้องมี เพื่อให้สามารถทำงานประสบความสำเร็จ

H = Heuristics เป็นความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ หรือจากเหตุผลต่าง ๆ ที่มี

E = Experience เป็นประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งยากแก่การถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนความรู้

N = Natural Talent เป็นพรสวรรค์ หรือสิ่งที่ธรรมชาติให้มา ยากที่จะบริหารจัดการได้ เป็นความรู้ที่ฝังลึกและยากในการถ่ายทอดมากที่สุด

จากหลักการและความสัมพันธ์ของ “ ความรู้” ตั้งแต่ความรู้ที่ชัดแจ้ง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด เรียงลำดับมาสู่ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน ซึ่งยากที่จะเข้าใจและถ่ายทอดได้ยากที่สุดข้างต้น ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญและหลายหน่วยงาน/องค์กร ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ โดยแต่ละคนหรือแต่ละองค์กรก็ให้นิยามกับคำว่า “ การจัดการความรู้” แตกต่างกันออกไป เช่น Ryoko Toyama เห็นว่า การจัดการความรู้ เป็นการจัดการเพื่อเอื้อให้เกิดความรู้ใหม่ โดยใช้ความรู้ที่มีอยู่ในประสบการณ์ของคนในองค์กรอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่จะทำให้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทางธุรกิจ

ธนาคารโลก หรือ World Bank เห็นว่า การจัดการความรู้ เป็นการรวบรวมวิธีปฏิบัติขององค์กรและกระบวนการที่เกี่ยวกับการสร้าง การนำมาใช้ และเผยแพร่ความรู้และบริบทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ

แม้จะมีความเห็นเกี่ยวกับนิยามของการจัดการความรู้ที่หลากหลาย แต่เมื่อจะพิจารณาโดยรวมแล้วจะพบว่า การจัดการความรู้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังต่อไปนี้

  • การจัดการความรู้เป็นกลยุทธ์การบริหารจัดการ วิธีปฏิบัติ หรือแผนงานขององค์กร
  • การจัดการ ต้องเป็นระบบและมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร
  • กระบวนการสร้างความรู้ สัมพันธ์กับการจำแนก สร้าง รวบรวม และแลกเปลี่ยนความรู้
  • ความรู้ที่เกี่ยวข้องและทำให้ผลการดำเนินงานขององค์กรดีขึ้น

ดังนั้น “ การจัดการความรู้ จึงเป็นกระบวนการในการนำความรู้ที่มีอยู่หรือเรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การสร้าง รวบรวม แลกเปลี่ยนและใช้ความรู้ เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการความรู้กับแนวทางการบริหารจัดการอื่น ๆ

การบริหารงานและพัฒนาองค์กรให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องได้นั้น แต่ละองค์กรจำเป็นต้องมีเทคนิค แนวทางเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการและพัฒนาองค์กรให้คงอยู่ได้สภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแต่ละองค์การอาจมีแนวทางการบริหารจัดการหลากหลายวิธีการควบคู่กันไป เพื่อเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรในภาพรวมให้ดีที่สุด โดยแนวทางการบริหารจัดการแต่ละแบบย่อมมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และการจัดการความรู้ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับแนวทางการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่แต่ละองค์กรนำมาประยุกต์ใช้ ยกตัวอย่างเช่น

Benchmarking และการจัดการความรู้ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการองค์กรที่มีความสัมพันธ์กัน โดยที่ Benchmarking เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) จากองค์กรอื่นภายใต้กฎกติกาที่เป็นสากล โดยมีแนวคิดที่ตระหนักในความเป็นจริงที่ว่า องค์กรเราไม่ได้เก่งในทุกเรื่องยังมีองค์กรอื่นที่มีความสามารถมากกว่าเราในบางเรื่อง การศึกษาจากประสบการณ์ตรงของผู้อื่นแล้วนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับเรา จะช่วยประหยัดเวลาและลดการลองผิดลองถูกให้น้อยลง นับเป็นเส้นทางลัดสู่การปรับปรุงที่ดีขึ้น และ Benchmarking จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาความรู้ โดยเริ่มจากการวัดและเปรียบเทียบกับคนที่ทำได้ดีกว่า เพื่อเข้าไปศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศขององค์กร จะเห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าว เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ขององค์กรอื่น ๆ และก่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ใหม่ ๆ โดยผ่านกระบวนการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับมาให้เหมาะสมกับองค์กรต่อไป

องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization ) และการจัดการความรู้ เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กอย่างยิ่ง โดยแนวคิดในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ คือ การที่จะทำให้คนในองค์กรเรียนรู้ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอก เพื่อนำมาใช้พัฒนาตนเอง และการดำเนินงานขององค์กร ทั้งนี้ การที่องค์กรจะจัดการความรู้ควบคู่กันไปเสมอ

อกจากนั้น เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ได้กำหนดให้การจัดการความรู้เป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์ท ี ่บ่งชี้ให้ได้ว่า องค์กรใดมีการพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพการบริหารจัดการอย่างไม่สิ้นสุด และเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นเลิศได้ โดยองค์ประกอบและความสัมพันธ์ของแต่ละองค์กอบซึ่งเป็นเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ มีลักษณะดังโครงสร้างต่อไปนี้

จะเห็นได้ว่า “ ความรู้” และการนำความรู้มาจัดการให้เป็นระบบ เพื่อให้คนองค์กรนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงาน และเกิดความรู้หรือวิธีการปฏิบัติงานแบบใหม่ที่ดีที่สุดในแต่ละองค์กรนั้น เป็นแนวทางการบริหารจัดการที่สำคัญอย่างหนึ่งในองค์กรยุคปัจจุบัน นอกจากนั้น การจัดการความรู้ดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์กับแนวทางการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่แต่ละองค์กรนำมาใช้ในการพัฒนา และปรับปรุงคุณภาพการบริหารจัดการควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่สภาวการณ์และความเหมาะสมกับการนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับลักษณะ รูปแบบ และวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละองค์กร จึงจะทำให้สามารถทำให้องค์กรเกิดการพัฒนา และก้าวสู่องค์กรแห่งการเป็นเลิศได้ต่อไป