เอกสารความรู้

เรื่อง การจัดการความรู้ ( Knowledge Management: KM ) กับการบริหารราชการสมัยใหม่

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ตอน ความรู้และวงจรความรู้

อ้างอิงจากชุดเครื่องมือการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตามโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
เรื่องการจัดการความรู้ โดยสำนักงาน ก.พ.ร.

--------------------------------

ความรู้คืออะไร

ในชีวิตของคนทุกคน ต่างก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ไม่รู้จักคำว่า “ ความรู้” เรามาดูกันซิว่าความรู้คืออะไร

ถ้าดูจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ก็จะพบนิยามของคำว่า “ ความรู้” คือ สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะ ความเข้าใจหรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์ องค์วิชาในแต่ละสาขา

นอกจากนั้น Hideo Yamazaki นักวิชาการชาวญี่ปุ่น ได้ให้นิยามของคำว่า “ ความรู้” คือ สารสนเทศที่ผ่านกระบวนการคิดเปรียบเทียบ เชื่อมโยงกับความรู้อื่น จนเกิดเป็นความเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ในการสรุป และตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยไม่จำกัดช่วงเวลา

ปิรามิดแสดงลำดับชั้นของความรู้

กว่าจะเป็น “ ความรู้” ได้ ก็เริ่มต้นจากการเป็น

1. “ ข้อมูล” หมายถึง ข้อเท็จจริง ข้อมูลดิบ หรือตัวเลขต่าง ๆ
ที่ยังไม่ได้ผ่านการแปลความ

2. “ สารสนเทศ” หมายถึง ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์
เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการและตัดสินใจ

3. “ ความรู้” หมายถึง สารสนเทศที่ผ่านกระบวนการคิด
เปรียบเทียบ เชื่อมโยงกับความรู้อื่นจนเกิดเป็นความเข้าใจ
และนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จำกัดเวลา

ความรู้ 2 ประเภท

  • ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน ( Tacit Knowledge ) คือ ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ การเรียนรู้ หรือพรสวรรค์ต่าง ๆ อธิบายออกมาได้ยาก แต่สามารถพัฒนาและแบ่งปันได้
  • ความรู้ที่ชัดแจ้ง ( Explicit Knowledge ) คือความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล สามารถถ่ายทอดออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น หนังสือ คู่มือ เอกสาร ซีดี วีซีดี เป็นต้น

และเมื่อพิจารณาสัดส่วนความรู้ทั้ง 2 ประเภทแล้ว จะพบว่าอัตราส่วนของความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน ( Tacit Knowledge ) จะมากกว่าความรู้แบบชัดแจ้ง (Explicit Knowledge ) ถึง 80 ต่อ 20 เปรียบเสมือนกับภูเขาน้ำแข็งที่เปรียบความรู้ที่ชัดแจ้งเป็นน้ำแข็งส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียง 20% ส่วนอีก 80% ที่จมน้ำอยู่ซึ่งมองไม่เห็นนั้น จะเป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน

 วงจรความรู้

ความรู้ 2 ประเภท ทั้งความรู้ที่เป็น Tacit Knowledge กับ Explicit Knowledge สามารถถ่ายเทหากันได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า วงจรความรู้ (knowledge Spiral ) หรือ SECI Model

กระบวนการสร้างความู้ จะเกิดได้ดังนี้

  1. Socialization คือ การแบ่งปันและการสร้างความรู้ จากความรู้ที่ฝังอยู่ในคนไปสู่คน โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงของผู้สื่อสารระหว่างกัน เช่น นาย ก. สอนงานเรื่องการร่างหนังสือราชการให้นาย ข. และนาย ค. ซึ่งเป็นข้าราชการมาบรรจุใหม่ที่หน่วยงานแห่งหนึ่ง

  2. Externalization คือ การสร้างและแบ่งปันความรู้จากการแปลงความรู้ที่ฝังอยู่ในคน เป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง โดยเผยแพร่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น นาย ข. และนาย ค. ต่างก็นำความรู้และประสบการณ์จากการร่างหนังสือราชการที่เรียนรู้มาจากนาย ก. (ตามข้อ 1) มาเขียนเป็นคู่มือการทำงานของตนเอง

  3. Combination คือ การแบ่งปันและสร้างความรู้ จากความรู้ที่ชัดแจ้ง โดยรวบรวมความรู้ที่ชัดแจ้งที่เรียนรู้มาสร้างเป็นความรู้ที่ชัดแจ้งประเภทใหม่ ๆ เช่น เมื่อนาย ง. ซึ่งเป็นข้าราชการบรรจุใหม่และเดินทางมาปฏิบัติราชการภายหลัง ได้ศึกษาระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการร่างหนังสือราชการ และอ่านคู่มือการทำงานเกี่ยวกับการร่างหนังสือราชการที่ นาย ข. และนาย ค. ได้เขียนไว้ (ตามข้อ 2)
    มาสรุปเป็นแนวทางในการร่างหนังสือราชการในภาพรวม ซึ่งรวมถึงรูปแบบ ขั้นตอนในการเสนอหนังสือราชการของหน่วยงาน และนำสรุปแนวทางดังกล่าวมาจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของหน่วยงาน และสำเนาลงในเว็ปไซต์ของหน่วยงาน เพื่อให้คนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้


  4. Internalization คือ การแบ่งปันและสร้างความรู้ จากความรู้ที่ชัดแจ้ง ไปสู่ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน โดยมักจะเกิดจากการนำความรู้ที่เรียนรู้มาไปปฏิบัติจริง เช่น เมื่อมีข้าราชการใหม่มาบรรจุหรือโอนมาทำงานที่หน่วยงานดังกล่าวอีก ก็สามารถศึกษาลักษณะ รูปแบบ และสำนวนการร่างหนังสือได้จากคู่มือการปฏิบัติงานหรือเปิดดูในเว็ปไซต์ของหน่วยงานดังกล่าว และนำไปทดลองไปปฏิบัติจริง โดยอาจจะมีการสอนงานเรื่องการร่างหนังสือราชการจากพี่เลี้ยงที่อยู่มาก่อน ซึ่งจะเป็นวงจรของความรู้โดยการสร้างและแบ่งปันความรู้ที่อยู่ในคนไปสู่คน (Socialization ) วนกลับไปที่ข้อ 1 นั่นเอง