บทนำ

บทนำ (ความเป็นมา)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๘๑ กำหนดให้รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เท่ากับเป็นการยืนยันในหลักการกระจายอำนาจ ที่คำนึงถึงความสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และเพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนทั้งสิ้น ๗,๕๘๑ แห่ง (แหล่งที่มาของข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบรูปแบบและโครงสร้าง ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓) ที่มีความแตกต่างและหลากหลายในด้านศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้มีการจัดตั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบราชการโดยเฉพาะพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๔๕ (ฉบับที่ ๕) และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ ได้แยกภารกิจการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของกรมการปกครองมาจัดตั้งเป็นกรมขึ้น โดยต้องปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจให้สอดคล้องกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการพัฒนาและให้คำปรึกษา แนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในด้านการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การบริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง และการบริหารจัดการ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพ ในการให้บริการสาธารณะ

ในปัจจุบัน ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดังนี้

(๑) ดำเนินการพัฒนาระบบ รูปแบบ และโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนในการจัดทำ ประสาน และบูรณาการแผนพัฒนาท้องถิ่น และวางระบบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาท้องถิ่น

(๓) ดำเนินการจัดทำ แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๔) กำหนดแนวทางและจัดทำมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

(๕) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการดำเนินงานด้านการเงิน การคลัง การงบประมาณ การพัสดุ การจัดเก็บรายได้ และการประกอบกิจการพาณิชย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งวางระบบตรวจสอบระบบการเงิน การบัญชี และการพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๖) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการจัดการบริการสาธารณะและการศึกษาในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๗) กำหนดแนวทาง วางระบบ และสร้างตัวชี้วัดเพื่อเป็นมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน

(๘) ส่งเสริมภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการบริหารงานและตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๙) พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๑๐) พัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและของกรม

(๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

จากภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดให้ส่วนราชการต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาตินั้น จำเป็นต้องมีกลไกกระตุ้นให้ส่วนราชการตระหนักถึงการปฏิบัติภารกิจต่างๆให้ลุล่วง ซึ่งพระราชกฤษีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๑๖ กำหนดให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการนั้น โดยจัดทำเป็นแผนสี่ปี ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการได้กำหนดให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการสี่ปี ในลักษณะของแผนก้าวหน้าที่จะต้องทบทวนและจัดทำทุกปี เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงได้ดำเนินการทบทวนทิศทางของกรมฯ ซึ่งประกอบด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด และกลยุทธ์ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีขั้นตอนดังนี้

๑. ทบทวนปัจจัยภายใน-ภายนอก (SWOT Analysis) และความคาดหวังของผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้เสีย

๒. กำหนดทิศทางของ สถ. ที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย และอำนาจหน้าที่ของ สถ. ตามกฎหมาย

๓. รับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด สถ. และท้องถิ่นจังหวัดที่มีต่อวิสัยทัศน์ พันธกิจ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ และกลยุทธ์ ของ สถ.

จากผลการทบทวนดังกล่าวจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติราชการสี่ปี (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๘) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต่อไป