ข่าวผู้บริหาร



อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติราชการ แก่ผู้บริหาร ท้องถิ่นจังหวัด ข้าราชการและบุคลากร สถ. ทั่วประเทศ ย้ำทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทยเต็มกำลัง
 


เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 เวลา 17.30 น. ณ ห้องประชุม สถ. นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประจำเดือนตุลาคม ถือเป็นการประชุมหนแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายทวี เสริมภักดีกุล นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางเพชรรัตน์ เลิศรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม คณะผู้ตรวจราชการกรม คณะผู้บริหารในส่วนกลาง พร้อมด้วยท้องถิ่นจังหวัด และข้าราชการในส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์
 


อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ขอความร่วมมือบุคลากรกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทย โดย "ทำให้เร็ว ไม่เก็บเรื่องใดไว้ในลิ้นชัก" "ทำให้เสร็จ และทำให้สำเร็จ" และ "ทำเรื่องใหญ่ ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องเล็ก ให้เป็นไม่มี" พร้อมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานคำนึงถึงการปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบทบาทของท้องถิ่นจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอ จะต้องสามารถประสาน ช่วยเหลือ และบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อมวลชน เพื่อขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้สำเร็จ และนอกจากขับเคลื่อนงานตามภารกิจประจำแล้ว ขอให้ระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์งานพิเศษ หรือ extra jobs ที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย อธิบดี สถ. กล่าวต่ออีกว่า ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานได้ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินงานให้บรรลุ 17 เป้าหมาย โดยได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ซึ่งนโยบายที่ สถ. ได้ร่วมขับเคลื่อน จะครอบคลุมทั้ง 5 มิติ ประกอบด้วย ในด้านสังคม/ความเป็นอยู่ของผู้คน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสันติภาพ/สถาบันที่เข้มแข็ง และมิติด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา
 


อธิบดี สถ. ได้เน้นย้ำถึงประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมการจัดการศึกษาท้องถิ่น ขอให้ร่วมกันส่งเสริมความรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษาท้องถิ่น และนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการยกระดับสมรรถนะ พัฒนาความรู้ และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จัดทำสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ศึกษาและใช้เทคโนโลยีให้คล่องแคล่ว
 


2. ขอเน้นการขับเคลื่อนนโยบายในด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้สูงอายุ ให้มีการประสานงานสนับสนุนการจัดสวัสดิการทางสังคมให้ผู้สูงอายุ ทั้งในด้านการแพทย์ สาธารณะสุข, การพัฒนาตนเอง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่าย/ชุมชน ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคาร สถานที่ บริการสาธารณะอื่น ๆ รวมถึงการสร้างหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุผ่านการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย
 


3. การบูรณาการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ขอให้มีการตั้งคณะทำงานบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับกรมขึ้น ทั้งการรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (CCTV/ลานกีฬา) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในสถานศึกษา การรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
 


4. ขอให้มีการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น การส่งเสริมนวัตกรรมชุมชน หรือการพัฒนาอาชีพ สร้างทักษะการทำงานให้แก่คนในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึง การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ โคก หนอง นา โมเดล รวมถึงการถอดบทเรียน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็งมีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งตนเองได้
 


5. ขอให้ดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนารายได้และพัฒนาช่องทางการจัดเก็บภาษีที่ครอบคลุมมากขึ้นการส่งเสริม การพัฒนารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 


6. การพัฒนาสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น สู่อนาคตอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่สำคัญ ประกอบด้วย การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะต้นทาง-กลางทาง-ปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, "โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนเพื่อรองรับคาร์บอนเครดิต" ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอให้เร่งรัด ติดตาม การดำเนินการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อรองรับการจัดการ มูลฝอย "คาร์บอนเครดิต" โดยสามารถศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ "ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน" ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากการดำเนินงานของจังหวัดสมุทรสงครามที่ได้ดำเนินการครบ 100% จากโครงการ "แม่กลองรวมพลัง 10 วัน ถังขยะเปียก 100%" โดยความร่วมมือจาก 7 ภาคีเครือข่าย
 


7. ขอให้เร่งรัดและติดตามการดำเนินการรายงานข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนด รวมถึงซักซ้อมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น นโยบายการฉีดวัคซีน การจัดฝึกอบรมต่าง ๆ
 


8. การให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมการประเมินต่างๆ เช่น การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) เพื่อให้ทราบถึงสถานะและปัญหาด้านคุณการดำเนินงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กร ในปีที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับคะแนนประเมินบางส่วนต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมายที่หน่วยประเมินกำหนด ขอกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประเมินของปีที่แล้วมาปรับปรุงและยกระดับผลการประเมินให้สูงขึ้นและผ่านเกณฑ์ตามที่หน่วยประเมินกำหนด, รางวัลเลิศรัฐ (PMQA) ขอให้พิจารณานำผลการประเมินที่ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ PMQA มาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาวิธีปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามเกณฑ์ PMQA
 


9. ขอให้พัฒนาการประเมินประสิทธิภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment: LPA) ที่มุ่งเน้นการให้รางวัลที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรมในการตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ (1) การจัดกลุ่มระดับผลการประเมินประสิทธิภาพ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจจำแนกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม Platinum (ดีเด่น) กลุ่ม Gold (ดีมาก) กลุ่ม Silver (ดี) กลุ่ม Bronze (พอใช้) (2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลการประเมิน LPA ดีเด่น แบ่งตามกลุ่ม 4 กลุ่ม จะจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณ ตามวงเงินที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดเป็นรางวัล เป็นการสร้างแรงจูงใจและตอบแทนความพยายาม ในการพัฒนาตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ ขอให้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเพิ่มเติมมาตรฐานการบริการสาธารณะที่จำเป็นให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับของประชาชนต่อการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 


10. การจัดเวที "สถ. สัญจร" เพื่อหารือขับเคลื่อนนโยบาย นิเทศงาน สะท้อนปัญหา กับท้องถิ่นจังหวัด ผู้บริหาร/ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยในการลงพื้นที่จะมีการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ การทำกิจกรรมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือการทำจิตอาสา (2 เดือน/ครั้ง) และในการประชุมประจำเดือนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอให้มีการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง/ครั้ง นอกจากนี้ จะมีการจัดเวทีและงานเสวนาระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เพื่อหารือสะท้อนปัญหาของการบริหารงานท้องถิ่น และนำผลสรุปไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป
 




จำนวนผู้เข้าชม 503